วันนี้มีเรื่องผู้ป่วยมาเล่าให้ฟัง เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์แพทย์แผนจีนได้ชัดเจนขึ้น
ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษราย หนึ่งได้รับการเยียวยาด้วยยากดการทำงานของต่อมไทรอยด์ และยาลดอาการใจสั่นอยู่ นานประมาณ 2 ปี ผลการรักษาไม่ค่อยได้ผล ผู้ป่วยจึงได้รับการแนะนำให้กินน้ำแร่ และได้ยารักษาภาวะไทรอยด์ต่ำ (ยาฮอร์โมนไทรอยด์) มากิน
1 ปีหลังจากการกินน้ำแร่ ผู้ป่วยเปลี่ยนจากโรคภาวะไทรอยด์เกิน (เป็นพิษ) กลายเป็นผู้ป่วยภาวะฮอร์โมนไทรอยด์พร่อง (ขาด) เปลี่ยนจากอาการขี้ร้อน หงุดหงิด นอนไม่หลับ กลายเป็นคนหนาวง่าย เฉื่อยชา ง่วงนอนเก่ง
ถ้ามองโดยภาพรวมเหมือนตาชั่งที่มี 2 ข้าง แต่เดิมน้ำหนักถ่วงมาก ข้างหนึ่งเกิดการเสียสมดุล พอรักษาจบกระบวนความ กลายเป็นตาชั่งเอียงมาอีกข้างหนึ่ง
ความจริงเราต้องการตาชั่งให้มีความสมดุล ไม่ใช่ต้องการเอียงไปอีกข้างหนึ่ง การรักษาแบบนี้ถือว่ายังไม่ใช่การรักษาในเชิงอุดมคติ
สาเหตุของต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน
ปกติการทำงานของต่อมไทรอยด์อยู่ภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมอง ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมนมากระตุ้นให้ทำงานมาก แต่ถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานมาก ต่อมใต้สมองจะลดการหลั่งฮอร์โมนมากระตุ้นทำให้ทำงานน้อยลง
ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ คือผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน โดยต่อมใต้สมองไม่สามารถควบคุมได้ ฮอร์โมนไทร็อกซีนที่มากเกินก็จะกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต่างๆ ให้ทำงานมากผิดปกติ เกิดอาการต่างๆ เช่น มือสั่น หงุดหงิด ขี้ร้อน โมโหง่าย กินจุ น้ำหนักลด นอนไม่หลับ ความดันสูง เป็นต้น
มองแบบแพทย์จีน : ภาวะยินพร่อง ไฟกำเริบ
ร่างกายผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษจะมีภาวะหยางมาก หรือมีไฟ ระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญ การกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆ มากกว่าปกติ มีลักษณะไปทางหยาง เช่น หิวเก่ง ใจสั่น รู้สึกร้อน ความดันสูง หงุดหงิด ท้องเสีย เป็นต้น
ความผิดปกติของร่างกายมีผลต่อระบบฮอร์โมน หลายชนิด หลายระบบ ตั้งแต่ระบบประสาทอัตโนมัติ ต่อมหมวกไต ระบบไฮโพทาลามัส ต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ต่อมเพศ ยังทำให้ระดับ C-AMP ในเลือดสูงขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลงอีกด้วย
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากภาวะการเสียสมดุลแพทย์จีนเรียกว่า "ยินพร่อง" เป็นภาวะที่เซลล์แห้ง ขาดสารยิน (ขาดสารน้ำและของเหลวภายในเซลล์) ทำให้เกิดความร้อนภายในเซลล์ ซึ่งมีผลกระทบต่อทุกระบบของร่างกาย ไม่ใช่เฉพาะตัวต่อมไทรอยด์เท่านั้น
การแก้ปัญหาหรือมุ่งเน้นที่ตัวไทรอยด์อย่างเดียวจึงมีลักษณะจำเพาะเกินไป
การรักษาแผนปัจจุบันใช้กลุ่มยาต้านไทรอยด์ (antithyroid drug) เช่น เมทิมาโซล (methimazole) หรือโพรพีลไทโอยูราซิล (propylthiouracil)
ถ้ารักษา 18-24 เดือนไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณากินน้ำแร่หรือการผ่าตัด
การผ่าตัดยุ่งยากกว่า เพราะอาจมีโอกาสตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกไปด้วย และอาจตัดถูกประสาทกล่องเสียง (laryngeal nerve) ทำให้เสียงแหบ
การกินน้ำแร่ง่ายกว่า แต่โอกาสเกิดต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำได้สูงมาก
การปรับสมดุลยิน-หยาง โดยการบำรุงสารยินและระบายร้อน
การปรับสมดุลยิน-หยางนั้น เป็นการสร้างเงื่อนไขและปรับสภาพของเซลล์ไม่ให้แห้งและลดภาวะไฟที่กำเริบ เป็นการปรับพื้นฐานเพื่อให้เซลล์เข้าสู่ภาวะสมดุลของยิน-หยาง และเมื่อใช้ร่วมกับการควบคุมฮอร์โมนไทรอยด์ที่สูงด้วยยาแผนปัจจุบัน การลดขนาดของยา และหยุดยาต้านไทรอยด์มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
การใช้ยาต้านไทรอยด์
การ ใช้ยาต้านไทรอยด์ กล่าวได้ว่า เป็นการรักษาปรากฏการณ์ของฮอร์โมนไทรอยด์สูง จวื่อเปียว ส่วนการปรับยิน-หยางของเซลล์และระบบต่างๆ ของร่างกายไม่ให้แห้ง และไม่ให้เกิดไฟ รวมทั้งการขับความร้อนภายในเซลล์ เรียกว่า การรักษาธาตุแท้จวื่อเปิ่น
แผนปัจจุบันมักรักษาอาการ รักษาปรากฏการณ์ ใช้วิธีการลด ทำลาย เมื่อพบความผิดปกติที่จุดใดจุดหนึ่ง และอธิบายสาเหตุของความผิดปกติไม่ได้ มักจะลงเอยว่าเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ตัวเอง หรือออโตอิมมูน (autoimmune) เวลาแก้ปัญหาปฏิกิริยาภูมิแพ้ ก็ใช้ยาไปกดภูมิคุ้มกันอีก (ไม่ใช่วิธีการไปปรับระบบภูมิแพ้) ซึ่งสร้างปัญหาและผลข้างเคียงของการรักษาจากยาให้กับผู้ป่วยอีก
การศึกษาวิจัยภาวะไทรอยด์เป็นพิษและการรักษา
ปัจจุบันภาวะไทรอยด์เป็นพิษส่วนมากเมื่อวินิจฉัย ตามหลักการแยกภาวะโรคและร่างกาย หรือเปี้ยนเจิ้ง จัดเป็นภาวะยินพร่องไฟกำเริบ
ภาวะไฟกำเริบ
- ไฟของตับ หงุดหงิด โมโหง่าย ปวดชายโครง ประจำเดือนผิดปกติ มือสั่น
- ไฟของหัวใจ ใจสั่น นอนไม่หลับ ปลายลิ้นแดง
- ไฟของกระเพาะอาหาร หิวเก่ง กินจุ ตัวผอมแห้ง
ภาวะยินพร่อง
- ยินของหัวใจพร่อง ใจสั่น นอนไม่หลับ เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
- ยินของตับพร่อง เวียนศีรษะ ตาแห้ง หงุดหงิด อาการสั่น
-
ยินของไตพร่อง ร้อนฝ่ามือฝ่าเท้าและกลางหน้าอก หน้าแดง โดยเฉพาะหลังเที่ยง เอว เข่า เมื่อยอ่อนล้า ผมร่วง เสียงดังในหู
การรักษาทางคลินิก
-
เสริมบำรุงยิน ระบายร้อน โดยวิธีการนี้ทำให้สามารถคุมระบบสมองใหญ่ ระบบต่อมใต้สมอง ระบบต่อมหมวกไต และมีผลต่อการควบคุมต่อมไทรอยด์ได้ดีขึ้น
-
เสริมพลังชี่ บำรุงยิน เป็นวิธีการเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย โดยเฉพาะกลุ่มเซลล์แมกโครฟาจ (macrophage) และปรับสมดุลของสารน้ำในเซลล์ควบคู่กันไป
สรุป
- ทฤษฎียิน-หยางของแพทย์จีน มุ่งเน้นการแยกแยะ สรรพสิ่งเป็น 2 ด้านเสมอ
- สิ่งก่อโรค (เสียชี่ ) กับ ภูมิร่างกาย (เจิ้งชี่ )
- อาการของโรค กับ เหตุแห่งโรค
- ร่างกายภายนอก กับ อวัยวะภายใน
- โรคใหม่ที่เพิ่งปรากฏ กับ โรคที่เป็นอยู่ก่อน
สิ่งก่อโรค อาการของโรค สิ่งปรากฏภายนอกร่างกาย โรคที่เพิ่งปรากฏให้เห็น จัดเป็นปรากฏการณ์ บางทีเรียกว่า ปลายเหตุ
ภูมิร่างกาย เหตุแห่งโรค โรคอวัยวะภายใน โรคที่เป็นอยู่ก่อน จัดเป็นธาตุแท้ บางทีเรียกว่า ต้นเหตุ
การรักษาโรคด้วยทัศนะแพทย์แผนปัจจุบัน มักจับเอาปรากฏการณ์เฉพาะส่วนมาวินิจฉัย ว่าเป็นโรคอะไร แล้วให้การรักษา ซึ่งจะได้ผลดีเฉพาะส่วน แต่ไม่ได้แก้ธาตุแท้และองค์รวมของปัญหาทั้งหมด การรักษาจึงมักเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อระบบต่างๆ
การรักษาโรคด้วยทัศนะแพทย์แผนจีน มักเน้นการปรับสมดุลพื้นฐานของร่างกาย เป็นการสร้างเงื่อนไข ไม่ให้เกิดโรคหรือทำให้โรคถูกควบคุมด้วยภาวะเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการรักษาที่ธาตุแท้ และมีลักษณะองค์รวม ร่วมกับการรักษาอาการ
การแพทย์ในเชิงบูรณาการคือการแก้ปัญหาทั้งปรากฏการณ์ที่พบ ที่การปรับสมดุลพื้นฐานของร่างกาย ซึ่งเป็นธาตุแท้ของการเกิดโรค โดยเลือกเอาข้อดีข้อเด่นของแต่ละศาสตร์มาร่วมกัน จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงและป้องกันจุดอ่อนของความโน้มเอียงการรักษาทางการแพทย์ที่สุดขั้ว
อ่านเพิ่มเติม